“บัตรทอง” หรือ “บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของคนไทย ให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิทธิที่ใช้ได้ตลอดชีวิต และใช้ได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชรา โดยบัตรทองได้ช่วยดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ด้วยการมอบสิทธิการรักษาที่ครอบคลุมโรคต่าง ๆ และสิทธิประโยชน์ที่ช่วยเสริมสร้างการมีสุขภาพที่ดี
Link ที่เกี่ยวข้อง
ผู้สูงอายุใช้สิทธิบัตรทองได้รับบริการพิเศษ อะไรบ้าง
สิทธิประโยชน์จากบัตรทองเป็นสิทธิที่จะได้รับเหมือนกันทุกคน แต่สำหรับผู้สูงอายุจะมีสิทธิที่จะได้รับบริการพิเศษที่นอกเหนือจาการรักษาพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่มีให้เฉพาะผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้แก่
- บริการฉีดวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (ผ้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป)
- การตรวจและวัดดัชนีมวลกาย
- การวัดความดันโลหิต
- การตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน
- ตรวจการติดเชื้อเอชไอวี
- การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- การคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- การคัดกรองโรคซึมเศร้า
- การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
- การคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งหรือมะเร็งช่องปาก
- การให้ความรู้ออกกำลังกาย
- ฝึกสมองป้องกันโรคสมองเสื่อม
- การให้ความรู้ตรวจเต้านมด้วยตนเอง
- การตรวจประเมินความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน (ADL)
ความช่วยเหลือจากบัตรทองเพิ่มเติมสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียง
สำหรับผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ความช่วยเหลือเพิ่มเติมที่ผู้สูงอายุจะได้รับจากบัตรทอง คือ ผู้สูงอายุสามารถขอรับสิทธิรักษาพยาบาลเพื่อขอฟื้นฟูสมรรถภาพได้ ซึ่งจะเป็นการให้บริการถึงที่บ้าน โดยเป็นการช่วยอำนวยความสะดวก ดังต่อไปนี้
- มีทีมหมอครอบครัว (ทีมจากสาธารณะสุข) ไปช่วยดูแล และเยี่ยมบ้าน
- ดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุก่อนเจ็บป่วย โดยเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิใกล้บ้าน
- ช่วยส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยระบบการส่งต่ออย่างครบวงจร
- ช่วยผู้สูงอายุเปลี่ยนหน่วยบริการสิทธิบัตรทอง ได้ 4 ครั้ง/ปี
การสมัครใช้สิทธิบัตรทอง สำหรับผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุที่เคยมีสิทธิประกันสังคม ถ้าต้องการออกจากสมาชิกภาพประกันสังคมตามมาตรา 33 เพื่อรับเงินบำนาญชราภาพ ส่วนการรักษาพยาบาลจะใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล ทำได้ดังนี้
- หลังจากที่นายจ้างได้แจ้งการลาออกจากงาน หรือ เกษียณอายุของผู้ประกันตน ต่อสำนักงานประกันสังคมแล้ว ผู้ประกันตนยังสามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาพยาบาลได้อีก 6 เดือน
- เมื่อครบ 6 เดือนนับจากวันที่ลาออกจากผู้ประกันตน หรือเกษียณ ซึ่งสามารถสมัครใช้สิทธิบัตรทองได้ในช่วงนี้
เอกสารที่ผู้สูงอายุเตรียมเพื่อสมัคร “สิทธิบัตรทอง”
ผู้สูงอายุสามารถสมัครใช้สิทธิ “บัตรทอง” ได้โดยเตรียมเอกสารไปสมัครได้ทุกช่องทาง ได้ตามขั้นตอนดังนี้
- เตรียมเอกสาร
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (ถ้าผู้ทำบัตรทองเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้สูติบัตร)
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- กรณีที่อยู่ไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน ใช้เอกสารเพิ่ม 2 อย่าง ได้แก่
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ไปพักอาศัย
- หนังสือรับรองของเจ้าบ้าน หรือหนังสือรับรองของผู้นำชุมชนว่าได้ไปพักอยู่อาศัยจริง
ทําบัตรทองที่ไหนได้บ้าง
- ผู้สูงอายุที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถไปยื่นเอกสาร สมัครบัตรทอง ได้ที่สำนักงานเขต
- ผู้สูงอายุที่อาศัยในต่างจังหวัด สามารถไปสมัครได้ที่ รพ.สต. ใกล้บ้าน
- สมัครผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน สปสช.
ขั้นตอนการสมัครบัตรทองออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. ผู้สมัครต้องเตรียมบัตรประชาชน และดาวน์โหลดแอปฯ โดยพิมพ์คำว่า “สปสช” ใน Google Play หรือ App Store คลิกที่นี่
สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทอง นอกจากดูแลประชาชนทุกคนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิตแล้ว ยังเพิ่มสิทธิการรักษาเฉพาะผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลมากที่สุด โดยเฉพาะปัจจุบันที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่ ดังนั้นผู้สูงอายุสามารถตรวจสอบการช่วยเหลือเพิ่มเติมของบัตรทอง เพื่อรับรักษาพยาบาล ส่งเสริมและฟื้นฟูให้มีสุขภาพที่ดีกันถ้วนหน้าได้