SME ที่กำลังมองหาลูกค้าใหม่ ๆ และต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจกับภาครัฐ สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการขึ้นทะเบียน SME เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้าง เข้าถึงฐานลูกค้าภาครัฐได้มากขึ้น นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียน SME ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการ SME สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ด้วย
Link ที่เกี่ยวข้อง
การจัดซื้อจัดจ้าง คืออะไร
หลายคนอาจเคยได้ยินภาษาราชการที่เรียกว่า “จัดซื้อจัดจ้าง” แต่อาจจะไม่เข้าใจความหมายว่าคืออะไรกันแน่ ก่อนจะขึ้นทะเบียน SME มาทำความรู้จักกับ “การจัดซื้อจัดจ้าง” กันก่อน
การจัดซื้อจัดจ้าง หรือเรียกง่ายว่า การรับจ้างเพื่อทำโครงการใดโครงการหนึ่ง หรือ จัดหาสินค้าใดสินค้าหนึ่งตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการ แต่เมื่อผู้ว่าจ้างคือภาครัฐจึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งเรียกว่าการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีความหมายถึง การดำเนินการเพื่อ ซื้อ เช่า หรือแลกเปลี่ยนของส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ งานก่อสร้าง งานจ้างที่ปรึกษา งานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง โดยทั้งหมดจะต้องเป็นไปกฏหมายกำหนด
ระบบทะเบียน SME คืออะไร
ระบบทะเบียน SME จัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องทำการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการ
โดยผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เข้ามาลงทะเบียนผ่านระบบทะเบียน SME ในบัญชีรายการพัสดุและบัญชีรายชื่อไว้กับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพียงแค่นี้ก็ทำให้ภาครัฐสามารถเข้าถึง SME ได้ง่ายขึ้น
วิธีการขึ้นทะเบียนจัดซื้อจัดจ้าง
ผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงระบบนี้ สามารถขึ้นทะเบียน พร้อมรายการสินค้าหรือบริการ รวมถึงต้องมีคุณสมบัติและเตรียมเอกสารดังนี้
คุณสมบัติของ SME ที่สามารถขึ้นทะเบียนได้
- ผู้ประกอบการรายย่อย (รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ทั้งภาคการผลิตและภาคการค้าและบริการ)
- ผู้ประกอบการขนาดย่อม (รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ในภาคการผลิต / รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท ในภาคการค้าและบริการ)
- ผู้ประกอบการมีสัญชาติไทย
- ครอบคลุมทั้งนิติบุคคลและคนธรรมดา
เอกสารสำหรับการขึ้นทะเบียน
เงื่อนไขในการขึ้นทะเบียน จะต้องเป็นผู้ประกอบการนิติบุคคล และผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนพาณิชย์ หรือ ได้รับการจดทะเบียนจากหน่วยงานราชการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
โดยต้องมีเอกสาร ประกอบการขึ้นทะเบียนดังนี้
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กระทรวงพาณิชย์ออกให้ไม่เกิน 6 เดือน)
- ทะเบียนพาณิชย์ หรือ หลักฐานการจดทะเบียนกับหน่วยงานราชการ
- เอกสารแสดงรายได้ (เพื่อพิจารณาความเป็น SME)
- ผู้ประกอบการนิติบุคคล หรือ รัฐวิสาหกิจชุมชน ต้องมีเอกสาร งบการเงินปีล่าสุด
- ผู้ประกอบการ บุคคลธรรมดา ต้องมีเอกสารหรือหลักฐาน การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่น เอกสารการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สามารถขึ้นทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้
2. เลือกประเภทธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการนิติบุคลล หรือ ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนพาณิชย์ หรือผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจชุมชน แล้วกรอกรายละเอียดต่าง ๆ ตามขั้นตอนที่กำหนด
3. ตรวจสอบขึ้นทะเบียน รอรับ SMS 7-14 วัน
ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว กรอกข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด ถูกต้องใช้เวลารอการตอบรับเพียง 7 วัน หรือไม่เกิน 14 วัน
สำหรับรูปแบบ SMS ที่จะได้รับมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- กรอกเอกสารครบถ้วนจะได้รับ SMS ยืนยัน
- เอกสารไม่ครบถ้วนจะได้รับ SMS ให้ส่งเอกสารเพิ่มเติม
- SMEs ที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลและผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด จะได้รับ SMS ที่ระบุ Username และ Password เพื่อจัดการข้อมูลสินค้า
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนด้วยตัวเองที่ เว็บไซต์ระบบขึ้นทะเบียน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้โดยเข้าไปที่ตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียน หรือโทร. 1301 | Email : thaismegp@sme.go.th | ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (OSS) ทั่วประเทศ
4. เข้าระบบจัดการสินค้าที่ภาครัฐนิยมจัดซื้อจัดจ้าง สามารถเข้าไปจัดการสินค้า โดยสินค้าที่ภาครัฐนิยมจัดซื้อจัดจ้างในลำดับต้น ๆ ได้แก่ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และงานข้างบริการต่าง ๆ เช่น บริการทำความสะอาด บริการรักษาความปลอดภัย บริการดูแลต้นไม้ สนามหญ้า
คำถาม (FAQs) เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน SME
มาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงที่ผ่านมานั้น แม้ว่าผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่จะตอบรับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ แต่ก็มี SMEs บางส่วน ที่ยังมีข้อสงสัยและคำถามเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนดังกล่าวบ่อย ๆ ดังนี้
คำถาม: การขึ้นทะเบียนSMEs ทำได้ที่ช่องทางใดได้บ้าง?
คำตอบ: ผู้ประกอบการ SMEs สามารถขึ้นทะเบียนได้ 2 ช่องทางหลักคือ
- เว็บไซต์ ของ สสว. หรือ คลิกที่นี่
- เว็บไซต์ ระบบขึ้นทะเบียน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ คลิกที่นี่
ทั้ง 2 วิธี จะช่วยแนะนำผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวกับขั้นตอนการขึ้นทะเบียน โดยกรอกรายละเอียดตามรูปแบบกิจการ เช่น นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา (ที่จดทะเบียนพาณิชย์) หรือวิสาหกิจชุมชน
คำถาม: ขึ้นทะเบียนแล้วทราบผลเลยหรือไม่?
คำตอบ: ผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับ SMS แจ้งการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียนภายใน 7-14 วันทำการ
คำถาม: วิธีตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียน?
คำตอบ: ผู้ประกอบการ SMEs สามารถตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนได้ด้วยตัวเอง ที่ เว็บไซต์ ของ สสว.และ เว็บไซต์ระบบขึ้นทะเบียน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
คำถาม: ถ้ารอผลนาน ๆ จะติดต่อใครได้บ้าง
คำตอบ: สามารถสอบถามหรือติดต่อไปได้ที่เว็บไซต์ระบบขึ้นทะเบียน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ Call Center 1301 และ แอดไลน์ @smeconnext
คำถาม: ทำไมผู้ประกอบการ SMEs ที่ขึ้นทะเบียนกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)ได้แต้มต่อถึง 15% ขณะที่ SMEs ทั่วไปได้แต้มต่อเพียง 10%
คำตอบ: ผู้ประกอบการ SMEs ที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. จะได้รับแต้มต่อ 10% และเมื่อนำสินค้าหรือบริการที่ขึ้นทะเบียนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้วย มาขายก็จะได้แต้มต่อเพิ่มเป็น 15% แต่ถ้าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ SMEs แต่นำสินค้าที่ขึ้นทะเบียนจาก ส.อ.ท. มาขายจะได้แต้มต่อเพียง 5% เท่านั้น
ระบบทะเบียน SME เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คือ ระบบที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดให้ผู้ประกอบการ SME ได้เข้าร่วม เพื่อให้สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการ SME ที่ได้ขึ้นบัญชีรายการพัสดุและบัญชีรายชื่อไว้กับ สสว. เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศได้ง่ายขึ้น จนสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ และสร้างโอกาสให้ SME ในท้องถิ่น