สิทธิในการรักษาพยาบาลของคนไทยถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐให้การคุ้มครอง โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ระบบใหญ่ ซึ่งมีเงื่อนไขในการรักษาแตกต่างกัน แต่ใครจะได้สิทธิในการรักษาอย่างไร ลองตรวจสอบสิทธิ์รับการรักษาพยาบาล ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้กันได้เลย
Link ที่เกี่ยวข้อง
รู้จัก 3 สิทธิรักษาพยาบาลหลัก
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะรู้จักสิทธิในการรักษาพยาบาลใน 3 ระบบใหญ่ คือ สิทธิบัตรทอง ,สิทธิประกันสังคมและสิทธิข้าราชการ มาดูรายละเอียดกัน
สิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง)
เป็นสิทธิรักษาพยาบาล ที่รัฐบาลออกให้เพื่อคุ้มครองกับบุคคลที่เป็นคนไทยมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก หรือ ผู้มีสัญชาติไทยที่ลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อเป็นหลักฐานในการเข้ารับบริการสาธารณสุขจากโรงพยาบาล สถานีอนามัย และสถานพยาบาลต่าง ๆ ในยามจำเป็น โดยประชาชนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ จึงจะสามารถใช้สิทธินี้ได้
สิทธิประกันสังคม
จะแตกต่างจากสิทธิบัตรทอง เนื่องจากผู้ที่จะได้สิทธินี้ต้องเป็นผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม โดยกำหนดสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
สิทธิข้าราชการ
สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ จะคุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัว (บิดา มารดา คู่สมรสและบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย) เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ดูแลระบบออกกฎระเบียบ
ใครบ้างมีสิทธิรับการรักษาแต่ละแบบ
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิทั้ง 3 ระบบ รวมถึงสิทธิในการรักษาที่มีความแตกต่างกัน สามารถทำตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
1.สิทธิบัตรทอง
คุณสมบัติ
- คนไทยที่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่เป็นผู้ประกันสังคม หรือหมดสิทธิประกันสังคม
- บุตรของข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือสมรส)
- บุตรของข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป (สิทธิข้าราชการจำกัดการคุ้มครองใช้สิทธิได้สูงสุด 3 คน)
- ข้าราชการที่เกษียณอายุก่อนกำหนด และไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ
การลงทะเบียน
- ลงทะเบียนเว็บไซต์ nhso.go.th
- ติดต่อที่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
- เขตกทม. 19 เขต
- สปสช. เขตพื้นที่ 1-13
- ผ่านทางโทรศัพท์ สายด่วน สปสช. 1330
สิทธิประโยชน์
- รักษาพยาบาทั่วไป ดูแล ค่าบริการ ค่ายา
- การตรวจโรค วินิจฉัย การรักษา การป้องกันโรค คลอดบุตร ทำฟัน ค่ายา ค่าห้อง ค่าบริการส่งตัวผู้ป่วย ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และการเจ็บป่วยอื่น ๆ พร้อมครอบคลุมตลอดชีพ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถรักษาได้ทุก รพ.
2.ประกันสังคม
คุณสมบัติ
เป็นผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม โดยจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่องแบ่งเป็น 3 ประเภท ดังนี้
- มาตรา 33 ภาคบังคับ คือ ผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ ที่มีนายจ้าง
- มาตรา 39 เป็นผู้ที่ทำงานแล้ว ลาออกมาเป็นอาชีพอิสระ สมัครใจที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมต่อไป เป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ มาไม่น้อยกว่า 12 เดือน ลาออกจากงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- มาตรา 40 เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ต้องการมีหลักประกันโดยเข้าร่วมกับกองทุนโดยสมัครใจอายุต้องอยู่ที่ 15-60 ปี
การลงทะเบียน
- ผู้ประกันตน ม.33 นายจ้างจะยื่นขอสิทธิประกันสังคม
- ผู้ประกันตน ม.39 และ ม .40 สมัครออนไลน์ได้ที่นี่ หรือ สมัครด้วยตนเองที่ สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ ร้านเซเว่นฯ ทุกสาขา ธ.ก.ส. และ บิ๊กซี
สิทธิประโยชน์
7 สิทธิประโยชน์ประกันสังคม
- เจ็บป่วย
- ทุพพลภาพ
- คลอดบุตร
- สงเคราะห์บุตร
- ชราภาพ
- เสียชีวิต
- ว่างงาน
3.สิทธิข้าราชการ
คุณสมบัติ
เป็นข้าราชการ และคุ้มครองสิทธิ บิดามารดา คู่สมรส และบุตร ไม่เกิน 3 คน เรียงลำดับก่อนหลัง ต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์)
การลงทะเบียน
ลงทะเบียนที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง
การสิทธิประโยชน์
- สิทธิประโยชน์ขึ้นอยู่กับหน่วยงาน สามารถดูข้อมูลได้ที่หน่วยงานต้นสังกัด
สิทธิอะไรบ้างที่ใช้พร้อมกันได้
ต้องอธิบายก่อนว่า คนไทยทุกคนที่มีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก จะมีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ไว้ เช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิบัตรประกันสังคม เป็นต้น คำถามคือ สามารถใช้สิทธิร่วมกันได้หรือไม่
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่าสิทธิประโยชน์หลัก หรือสิทธิที่ได้จากการลงทะเบียนเลือกใช้สิทธิในการรักษาในระบบนั้น เช่น สิทธิรักษาข้าราชการ สิทธิประกันสังคม หรือ สิทธิบัตรทอง
ส่วนสิทธิรอง คือ สิทธิการรักษาที่เป็นทางเลือกให้เช่น สิทธิประกันชีวิต, หรือสิทธิที่ได้รับจากสังกัดอื่น ตัวอย่างในกรณีที่คู่สมรสมีสิทธิข้าราชการ ขณะที่อีกคนเป็นพนักงานเอกชนใช้สิทธิประกันสังคม สิทธิรองที่สามารถใช้ได้ ก็คือ สิทธิการรักษาข้าราชการ
กรณีสิทธิซ้อน หรือการใช้สิทธิร่วมกัน ระหว่าง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการทำได้หรือไม่ คำตอบคือ สามารถใช้ร่วมกันได้ โดยใช้สิทธิข้าราชการ ใน รพ.รัฐ แต่หากไปใช้บริการคลินิกเอกชน หรือ รพ.เอกชน สามารถใช้สิทธิตามประกันสังคมได้
ส่วนสิทธิบัตรทอง อาจไม่สามารถใช้ร่วมกับสิทธิอื่น ๆ ได้ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สิทธิรัฐวิสาหกิจ และสิทธิสวัสดิการอื่น ๆ โดยจะต้องเลือกใช้สิทธิใดสิทธิหนึ่งในการรักษา
ช่องทางตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล
สำหรับช่องทางการตรวจสอบสิทธิว่าใคร ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง ดังนี้
สิทธิบัตรทอง
สามารถตรวจสอบสิทธิ ผ่าน 4 ช่องทางง่าย ๆ โดยมีวิธีเช็ก ดังนี้
- โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2
- เว็บไซต์ สปสช. เลือก สำหรับประชาชน หลังจากนั้นคลิกตรวจสอบสิทธิ กรอกบัตรประชาชนและวันเกิดได้เลย
- แอปพลิเคชัน สปสช. ทั้งระบบ Android และ iOS เลือกตรวจสอบสิทธิเช่นเดียวกัน
- ตรวจสอบสิทธิผ่าน Line ของ สปสช. สามารถสแกน QR Code หรือ คลิก แอดเป็นเพื่อน หลังจากนั้นเลือกเมนูตรวจสอบสิทธิ
- ขณะที่พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่สังกัดหน่วยงาน สามารถตรวจจสอบสิทธิกับหน่วยงานที่สังกัด หรือ ตรวจสอบได้ที่เว็ปไซต์กรมบัญชีกลาง
- การตรวจสอบสิทธิในการรักษาพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้มีสิทธิยื่นเอกสารเพื่อขอรับสิทธิการเบิกค่ารักษาพยาบาลสิทธิ อปท. ณ ส่วนราชการต้นสังกัด ดำเนินการลงทะเบียนในระบบทะเบียนบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีฐานข้อมูลในการตรวจสอบสิทธิ อปท. ณ สถานพยาบาล ข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบและได้รับอนุมัติสิทธิจากนายทะเบียนของ ณ ส่วนราชการต้นสังกัดแล้วสามารถขึ้นสิทธิอปท. ได้ทุกวัน หรือตรวจสอบได้ที่นี่
ซึ่งการใช้สิทธิ์บัตรทอง สามารถใช้สิทธิในการรักษาโรงพยาบาลที่เลือกใช้สิทธิไว้ได้ แต่สามารถขอเปลี่ยนย้ายสิทธิโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี
สิทธิประกันสังคม
สามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่ เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม และทำการสมัครสมาชิกเข้าใช้งาน ส่วนรหัสเป็นหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ในกรณีที่ผู้ใช้งานเป็นสมาชิกอยู่แล้วจะสามารถใช้งานได้ทันที หรือ สมัครสมาชิกเพื่อใช้สิทธิ โดยสิทธิประกันสังคม จะสามารถใช้สิทธิโรงพยาบาลที่เราเลือกไว้ แต่สามารถขอเปลี่ยนได้ 1 ครั้งต่อปี
สิทธิข้าราชการ
ข้าราชการสามารถตรวจสอบสิทธิต่างๆได้ผ่านหน่วยงานต้นสังกัต หรือ ตรวจสอบสิทธิเข้าร่วมในระบบจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลได้ ที่นี่
ถ้ายังไม่รู้ว่าเรามีสิทธิรักษาอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีสิทธิการรักษา หรือไม่แน่ใจว่าใช้สิทธิการรักษาอะไร เบื้องต้นสามารถนำเลขบัตรประชาชน 13 หลักตรวจสอบสิทธิผ่านโทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2
และเข้า เว็บไซต์สปสช. เลือก สำหรับประชาชน หลังจากนั้นคลิกตรวจสอบสิทธิ กรอกบัตรประชาชนและวันเกิดได้เลย
นอกจากนี้สามารถติดต่อ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) ใกล้บ้าน เพื่อตรวจสอบสิทธิการรักษาและลงทะเบียนการใช้สิทธิการรักษาได้เลย
ประเทศไทยมีสวัสดิการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชนอย่างทั่วหน้า โดยดูแลสุขภาพของคนไทยตลอดชีวิต ดังนั้นหากเจ็บป่วยแต่ยังไม่ทราบว่ามีสิทธิรักษาพยาบาลแบบใด อย่าลืมเข้าไปเช็กสิทธิ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตนเองกัน