สิทธิรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากร่างกายเสื่อมสภาพไปตามวัย จึงจำเป็นต้องได้รับสิทธิการดูแลรักษาเมื่อเจ็บป่วย เมื่อเกษียณแล้ว ยังคงใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่ หรือควรเลือกใช้สิทธิบัตรทองดีกว่า ก่อนตัดสินใจเลือกสิทธิการรักษา มาดูกันก่อนว่าสิทธิการรักษาแบบไหนเหมาะกับการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุในวัยเกษียณ
Link ที่เกี่ยวข้อง
สิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ในวัยเกษียณ
สิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็น สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือ สิทธิประกันสังคม ก็เป็นสิทธิที่ผู้สูงอายุจะใช้ได้หลังเกษียณ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- สิทธิ”บัตรทอง” หรือบัตรประกันสุขภาพแห่งชาติ
คนไทยทุกคนสามารถใช้สิทธิบัตรทองรักษาได้ตลอดชีวิตไม่มีวันหมดอายุ โดยครอบคลุมการรักษาโรค เช่น ให้บริการตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองโรค ให้คำแนะนำด้านสุขภาพต่าง ๆ อาการเจ็บป่วยทางกาย หรือทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า ไปจนถึงโรคร้ายแรง โรคเรื้อรัง โดยคุ้มครองค่าใช้จ่ายตามการวินิจฉัยของแพทย์ และประกาศหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้ต้องไม่เป็นผู้ถือสิทธิอื่น เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิรัฐวิสาหกิจ หรือ สิทธิข้าราชการ - สิทธิประกันสังคม
ถ้าผู้สูงอายุต้องการเลือกคงสถานภาพสมาชิกประกันสังคมไว้ เพื่อยังคงสิทธิรักษาพยาบาล จะต้องยื่นสมัครประกันสังคมมาตรา 39ต่อภายใน 6 เดือนนับจากวันที่ออกจากงาน โดยจะต้องจ่ายเงินสมทบจำนวน 432 บาทต่อเดือน โดยประกันสังคม จะคุ้มครองอาการเจ็บป่วยทั่วไป หรือเมื่อประสบอุบัติเหตุ ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเมื่อจำเป็นต้องเข้ารับการบริการในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ผู้ประกันตนสามารถสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อน แล้วจึงค่อยเบิกคืนกับทางประกันสังคมได้ในภายหลัง
ประกันสังคมหรือบัตรทอง ต่างกันอย่างไร
ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่เตรียมเกษียณอายุแล้ว ควรวางแผนเลือกการรักษาพยาบาลแบบไหน ระหว่างสิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคม
ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว ลองมาตรวจสอบรายละเอียดสิทธิประโยชน์ระหว่าง สิทธิประกันสังคม และสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ 2 ทางเลือก แล้วลองวางแผนดูว่าควรเลือกแบบไหนแล้วได้ประโยชน์มากที่สุด
เปรียบเทียบสิทธิบัตรทองและสิทธิประกันสังคม
สิทธิประโยชน์ | ประกันสังคม ม.39 | บัตรทอง |
---|---|---|
1. การใช้บริการ | รพ. ที่ได้เลือกไว้ | รพ.ในเขตพื้นที่ที่ร่วมโครงการและลงทะเบียนไว้ |
2. สิทธิการรักษา | สิทธิการรักษาประกันสังคม อ่านรายละเอียดได้ ที่นี่ | สิทธิการรักษาพยาบาลบัตรทอง อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ ที่นี่ |
3. บริการทันตกรรม | ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ไม่เกิน 900 บาท/ปี | ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ไม่จำกัดวงเงิน |
4. การรักษาต่อเนื่อง | ไม่มีสิทธิการรักษาต่อเนื่อง | การรักษาแบบพักฟื้น การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการรักษา |
5. ยาและเวชภัณฑ์ | ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ | ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์) |
6. ค่าห้องและค่าอาหาร | ไม่เกิน 700 บาท/วัน | ฟรีค่าห้องและค่าอาหารสามัญ (รพ.รัฐบาล) |
7. ระยะเวลาการคุ้มครอง | สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน ด้วยการลาออก เกษียณอายุ หรือขาดส่งเงินสมทบเกิน 3 เดือน | ไม่มีวันหมดอายุใช้ได้ตลอดชีวิต |
ประกันสัมคมมาตรา 39 เกษียณแล้วก็ยังใช้ต่อได้
ผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานและสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคม ที่อยากจะใช้ สิทธิรักษาพยาบบาลประกันสังคม ด้วยการจ่ายสมทบตามมาตรา 39 ยังคงสิทธิรักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ของประกันสังคม (ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต ทั้งนี้จะได้รับเงินบำนาญชราภาพน้อยลง เพราะเมื่อลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน ทำให้เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือน ที่จะนำมาคำนวณเงินบำนาญจะเหลือเพียง 4,800 บาท ส่งผลให้เงินบำนาญที่เราจะได้รับลดลง ในขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยในการคำนวณเงินบำนาญของประกันสังคมมาตรา 33 อยู่ที่ 15,000 บาท
บัตรทองคุ้มครองตลอดชีพ
หากดูตารางเปรียบเทียบ จะเห็นว่า สิทธิการรักษาพยาบาลตามสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าสิทธิรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม อีกทั้งอายุการคุ้มครองของบัตรทองไม่มีวันหมดอายุ
หากเกษียณแล้วยังสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลจากประกันสังคมต่อได้ เพียงสมัครประกันสังคมมาตรา 39 เพื่อใช้สิทธิ และอีกทางเลือกหนึ่งคือสิทธิบัตรทองหรือประกันสุขภาพทั่วหน้า ก็เป็นหนึ่งสิทธิรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานสำหรับคนไทยเช่นกัน ดังนั้นหากดูรายละเอียดแล้วสามารถใช้สิทธิที่เหมาะกับตนเองได้เลย