สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ ทั้งพ่อค้าแม่ค้า หรือชาวฟรีแลนซ์ อาจเกิดความกังวลต่าง ๆ มากมาย ทั้งยามเจ็บป่วยไม่สามารถออกไปทำงานได้ ยามเกิดเหตุฉุกเฉินต่าง ๆ แต่ความกังวลนี้จะลดลงไป หากได้เป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 ที่ทำประกันตนเองไว้ มาตรานี้จะดีและเป็นประโยชน์อย่างไร ไปหาคำตอบได้ในบทความนี้
Link ที่เกี่ยวข้อง
ประกันตนเอง คุ้มครองทั้งคนไทยและคนต่างด้าว
ผู้มีสิทธิสมัคร ต้องมีอายุระหว่าง 15- 65 ปีบริบูรณ์ สัญชาติไทย หรือ ผู้ถือบัตรประจำตัวซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็น 0 หรือ 6 หรือ 7 หรือ สองหลักแรก เป็น 00 เช่น ชนกลุ่มน้อยหรือคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยชั่วคราว
ไม่มีนายจ้างก็สมัครได้ หายห่วง
ประกันสังคมมาตรา 40 เป็นประกันสังคมประเภทหนึ่งที่คนทั่วไปที่ทำงานอิสระไม่มีนายจ้าง เช่น พ่อค้า เกษตรกร แม่ค้าออนไลน์ คนขับแท็กซี่ หรือฟรีแลนซ์ สมัครทำประกันตนเองได้ เพียงต้องไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39
ผู้ไม่มีสิทธิสมัคร
- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39
- ข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ
- ผู้พิการทางสติปัญญา เช่น ออทิสติก ผู้ป่วยจิตเภท
วางใจได้ ด้วยทางเลือกความคุ้มครองที่หลากหลาย
มาตรา 40 มีทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมอยู่ 3 ทางเลือก ซึ่งรัฐออกแบบให้หลากหลายเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เลือกได้ตามความสะดวก
ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน คุ้มครอง 3 กรณี คือ | ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน คุ้มครอง 4 กรณี คือ | ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน คุ้มครอง 5 กรณี คือ |
|
---|---|---|---|
ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด | 300 บาท/วัน (เบิกได้ไม่เกิน 30 วัน/ปี) | 300 บาท/วัน (เบิกได้ไม่เกิน 30 วัน/ปี) | 300 บาท/วัน (เบิกได้ไม่เกิน 90 วัน/ปี) |
ทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ | 500 - 1,000 บาท/เดือน ไม่เกิน 15 ปี | 500 - 1,000 บาท/เดือน ระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี | 500 - 1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต |
เสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ | 25,000 บาท* * รับเพิ่ม 8,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเสียชีวิต | 25,000 บาท* * รับเพิ่ม 8,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบม ก่อนเสียชีวิต มาแล้ว 60 เดือน | 50,000 บาท |
กรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย ได้รับเงินบำเหน็จ | 50 บาท/เดือน | 150 บาท/เดือน * รับเพิ่มเงินก้อน 10,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 180 เดือน |
|
กรณีสงเคราะห์บุตร ได้รับเงินรายเดือน ได้รับเงินสงเคราะห์ | 200 บาท/คน/เดือน |
ในแต่ละความคุ้มครอง จะมีหลักเกณฑ์รับสิทธิประโยชน์ต่างกันไป ในแต่ละกรณี เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ประกันสังคมจะคุ้มครองในกรณีต่าง โดยเป็นไปตามเงื่อนไข ต่อไปนี้
1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย
ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ผู้ประกันตนที่ทำประกันตนเองจะเริ่มได้รับความคุ้มครองเมื่อจ่ายเงินสมทบไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนในระยะเวลา 4 เดือนก่อนเกิดเหตุ
เมื่อเจ็บป่วยผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองหรือประกันสุขภาพที่มีได้ตามปกติ เพราะประกันสังคมมาตรา 40 ไม่ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล แต่จะได้รับเงินทดแทนในกรณีต่าง ๆ ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 | ทางเลือกที่ 2 | ทางเลือกที่ 3 | |
---|---|---|---|
ผู้ป่วยใน นอนพักรักษาตัว 1 วันขึ้นไป รับเงินทดแทน | 300 บาท/วัน | 300 บาท/วัน | 300 บาท/วัน |
ผู้ป่วยนอก แต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป รับเงินทดแทน | 200 บาท/วัน | 200 บาท/วัน | 200 บาท/วัน |
ผู้ป่วยนอก ที่ไปพบแพทย์ และมีใบรับรองแพทย์มาแสดง รับเงินทดแทน | 50 บาท (ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี) | 50 บาท (ไม่เกิน 3 ครั้ง/ปี) | |
รับเงินทดแทนสูงสุด รับเงินทดแทน | 30 วัน/ ปี | 30 วัน/ปี | 90 วัน/ปี |
2. กรณีทุพลภาพ
ในกรณีทุพลภาพ ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทน ตามทางเลือกที่นำส่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้
เริ่มคุ้มครองตั้งแต่ | จำนวนครั้งที่นำส่ง ไม่น้อยกว่า | ได้รับเงินทดแทน | ระยะเวลารับเงินทดแทน | |
ทางเลือกที่ 1 & 2 | ทางเลือกที่ 3 | |||
เดือนที่ 11 เป็นต้นไป | 6เดือน | 500 บาท / เดือน | 15 ปี นับจากเดือนที่ได้รับเงินทดแทนเดือนแรก | ตลอดชีวิต |
เดือนที่ 21 เป็นต้นไป | 12 เดือน | 650 บาท / เดือน |
||
เดือนที่ 41 เป็นต้นไป | 24 เดือน | 800 บาท / เดือน |
||
เดือนที่ 61 เป็นต้นไป | 36 เดือน | 1,000 บาท / เดือน |
3. กรณีเสียชีวิต
ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนในเวลา 12 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ (จ่ายเพียง 1 ใน 6 เดือนมีสิทธิได้รับเงินค่าทำศพ) และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต) โดยมีรายละเอียดดังตารางนี้
ทางเลือกที่ 1 | ทางเลือกที่ 2 | ทางเลือกที่ 3 | |
---|---|---|---|
ได้รับเงินค่าทำศพ กรณีเสียชีวิตปกติ ใช้สิทธิได้เมื่อจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือนก่อนเสียชีวิต กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ต้องจ่ายเงินสบทบอย่างน้อย 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือนก่อนเสียชีวิต | 25,000 บาท | 25,000 บาท | 50,000 บาท |
ได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต (เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต) | รับเพิ่ม 8,000 บาท | รับเพิ่ม 8,000 บาท |
4. กรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย
หากคุณเลือกประกันตนใน ทางเลือกที่ 2 หรือ 3 เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน จะได้รับสิทธิคุ้มครอง
ทางเลือกที่ 2 ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน (ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ทดแทน) สามารถฝากออมเงินเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และได้รับเงินออมเพิ่ม 1,000 เมื่อสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน (ตามจำนวนงวดที่จ่ายเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ทดแทน) รับเงินบำเหน็จเพิ่ม 10,000 บาท (เมื่อจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป) สามารถฝากออมเงินเพิ่มได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และได้รับเงินออมเพิ่ม 1,000 บาท เมื่อ สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน
ทางเลือกที่ 1 | ทางเลือกที่ 2 | ทางเลือกที่ 3 | |
---|---|---|---|
บำเหน็จชราภาพ | 50 บาท/เดือน | 150 บาท/เดือน | |
ฝากออมเงิน | ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท | ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท |
เมื่อวันที่ 10 พค. 2565 มีการแก้ไขสิทธิประโยชน์ ประกันสังคมกรณีชราภาพ เพิ่ม “หลักการ 3 ขอ” (ขอเลือก-ขอคืน-ขอกู้) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยผู้ประกันตนสามารถนำเงินชราภาพออกมาใช้ก่อนได้ ซึ่งมีรายละเอียด คือ
- ขอเลือก – ผู้ประกันตน (อายุ 55 ปีบริบูรณ์) สามารถเลือกรับ เงินบำเหน็จ หรือ เงินบำนาญชราภาพได้
- ขอคืน – ผู้ประกันตน (ก่อน อายุ 55 ปีบริบูรณ์) สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ได้
- ขอกู้ – ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ อื่น ๆ เช่น
- ขยายอายุผู้ประกันตน จาก 60 ปี เป็น 65 ปี
- เพิ่ม เงินทดแทนขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จาก 50% เป็น 70%
- เพิ่ม ความคุ้มครองกรณีสงเคราะห์บุตร ต่ออีก 6 เดือน
5. กรณีสงเคราะห์บุตร
ผู้ประกันตน ที่เลือกทางเลือกที่ 3 และจ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือน ภายในเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับความคุ้มครอง เมื่อนำส่งครบตามเงื่อนไขแล้ว จะได้รับเงินรายเดือนให้กับบุตรของคุณ ตั้งแต่ แรกเกิด ถึง 6 ปีบริบูรณ์
ทางเลือกที่ 1 | ทางเลือกที่ 2 | ทางเลือกที่ 3 | |
---|---|---|---|
จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 24 เดือน ในเวลา 36 เดือน | 200 บาท/คน/เดือน (แต่ได้ไม่เกิน 2 คน) |
ผู้ประกันตนสามารถใช้ข้อมูลความคุ้มครองทั้ง 5 กรณีของประกันสังคม ม.40 มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกสิ่งที่คุ้มค่าและเหมาะกับตัวเอง เมื่อตัดสินใจเลือกได้แล้ว ก็ไปสมัครกันได้เลย
วิธีสมัครประกันสังคม ม.40
สมัครที่สำนักงานประกันสังคม
สมัครผ่านเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม
- เข้าเว็บไซต์ประกันสังคม
- เลือกลงทะเบียนผู้ประกันตน ตามมาตรา 40
- กรอกข้อมูลผู้สมัครที่จำเป็น
- เลือกช่องทางการจ่ายเงินสมทบ
- กดยอมรับและยืนยันเงื่อนไข
- รอรับ SMS ยืนยันการลงทะเบียนสำเร็จ
สมัครผ่านช่องทางอื่น ๆ
เคาน์เตอร์เซอร์วิส | |
ธนาคาร ธ.ก.ส. ทุกสาขา | |
Big C ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ | |
เครือข่ายประกันสังคม ทั่วประเทศ |
จะเบิกสิทธิต้องทำอย่างไร
ผู้ประกันตน ม.40 สามารถขอเบิกสิทธิได้ โดยยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนฯ (สปส. 2-01/ม.40) ได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ พร้อมแนบหลักฐานประกอบการยื่น เช่น ใบรับรองแพทย์ สำเนาเวชระเบียน (ถ้ามี) บัตรประชาชนหรือบัตรอื่นที่หน่วยงานราชการออกให้ ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่มีสิทธิ และจะต้องมารับเงินภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับเงิน หากไม่มารับภายในเวลากำหนด เงินนั้นจะตกเป็นของกองทุนทันที
ประกันสังคมมาตรา 40 ถือเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ทำงานอิสระไม่มีนายจ้าง และต้องการประกันตนเองให้มีความมั่นคงกับชีวิตเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน อีกทั้งยังมีหลากหลายทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ และการให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของคุณ